‘ภาคธุรกิจ-การเงิน’มุ่งสู่ESGความยั่งยืน หวังเดินหน้าตามเป้าNetZeroในไทย
วันที่ 25 ก.ค. นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยในงานสัมมนา ESG : Game Changer ของหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ว่า ในเรื่องของอีเอสจี หรือเรื่องสิ่งแวดล้อม สังคมและธรรมาภิบาลนั้น มองว่าภาคการเงินจะเป็นตัวกลางช่วยให้ภาคธุรกิจปรับตัวไปสู่การคำนึงสิ่งแวดล้อม และต้องคำนึงถึงเวลาและความเร็ว ต้องไม่ช้าเกินไปเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบที่ไม่สามารถแก้ไขได้ และไม่เร็วเกินไปจนระบบเศรษฐกิจปรับตัวได้ทัน
ทั้งนี้ที่ผ่านมาธปท.ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องผลักดันกระบวนการดำเนินธุรกิจคำนึงสิ่งแวดล้อม 5 ด้าน ใน 2 ด้านแรกเป็นการดำเนินการเป็นรูปธรรม หลักปฏิบัติที่ดีมีมาตรฐานดำเนินงานคำนึงสิ่งแวดล้อม ออกแนวนโยบายให้สถาบันการเงิน ให้ปฏิบัติ หวังว่าให้บริหารจัดการความเสี่ยง โดยต้องมีโครงสร้างการกำกับดูแล บทบาทความรับผิดชอบของผู้บริหารสถาบันการเงิน ซึ่งบางแห่งได้เพิ่มผู้บริหารตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่ด้านความยั่งยืน เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายสู่เน็ตซีโร่ในปี 73 และสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 93
นอกจากนี้ในด้านที่ 3 คาดหวังสถาบันการเงินควบคุม บริหารความเสี่ยงสิ่งแวดล้อม ถือว่าเป็นสัญญาณที่ดีมีการเก็บข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่คำนวณเป็นไปตามหลักสากลมากขึ้น ส่วนด้านที่ 4 เป็นการเปิดเผยข้อมูลที่เหมาะสม รองรับโอกาสและความเสี่ยงให้สถาบันการเงินต้องรายงานเป็นประจำ และสุดท้ายได้จัดทำมาตรฐานจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ไทยแลนด์ แท็กโซโนมี่ เพื่อกำหนดนิยามสีเขียวแต่ละภาคธุรกิจ ว่าคำนึงสิ่งแวดล้อมระดับใด ซึ่งจะช่วยให้ภาคการเงินสนับสนุนให้ภาคธุรกิจองค์กรปรับตัวได้ดีขึ้น
“สถาบันการเงินจะสามารถประเมินสถานะพอร์ตของตัวเองได้ว่าเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมระดับใด ซึ่งในหลายประเทศมีการกำหนดความเป็นสีเขียว ที่ผ่านมาธปท. ก.ล.ต. ได้ร่วมกันตั้งคณะทำงานไทยแลนด์ แท็กโซโนมี่ขึ้นมา และจะกำหนดให้เหมาะสมกับบริบทของไทย โดยเริ่มจัดกลุ่มพลังงานก่อนซึ่งมีอยู่ 100 ล้านบาท หลังจัดแท็กโซโนมี่แล้ว จะถูกแบ่งเป็น สินเชื่อแก่ธุรกิจพลังงานโซลาร์ 20 ล้านบาทเป็นสีเขียว และสีเหลือง คือสินเชื่อแก่ธุรกิจพลังงานที่ปล่อยคาร์บอนแล้ว 30 ล้านบาท และสีแดงสินเชื่อแก่ธุรกิจพลังงานฟอสซิล 50 ล้านบาท”
นายรณดล กล่าวว่า การดำเนินการดังกล่าวหวังว่าสถาบันการเงินจะประเมินความเสี่ยงพอร์ตตัวเองได้ วางแผนการปรับตัวตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อเพื่อลดก๊าซเรือนกระจก และสถาบันการเงินต้องเสนอผลิตภัณฑ์ทางการเงินช่วยตอบโจทย์ปรับตัว สินเชื่อเพื่อความยั่งยืน ด้านอีเอสจี สินเชื่อสีเขียว โดยต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน
นายฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.ไทยเบฟเวอเรจ กล่าวในหัวข้อ ไทยเบฟ & ESG way ว่าในทุกวันนี้ชาวต่างชาติต่างสนใจประเทศไทยว่าไทยทำอะไรเกี่ยวกับอีเอสจีไปแล้วบ้าง ซึ่งในอดีตอีเอสจี ก็คือซีเอสอาร์ แต่มีหลายอย่างมีเพิ่มเติม โดยของไทยเบฟได้ยึดคำว่าอีเอสจี มาจากธรรมชาติ คน และบริหารจัดการ โดยเรื่องธรรมชาติ ต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี 83, คืนน้ำสู่ธรรมชาติและชุมชนให้ได้ 100% ส่งเสริมให้เกิดผลกระทบสุทธิเชิงบวกด้านความหลากหลายทางชีวภาพ
ด้านคน มีคะแนนวัดผลการมีส่วนร่วมของพนักงานมากกว่าหรือเท่ากับ 90% ภายในปี 73, 80% ของยอดขายจากธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ต้องมาจากเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพภายในปี 73 และเกิดการแบ่งปันและสร้างคุณค่าแก่สังคมผ่านเสาหลัก 6 ประการ ส่วนการบริการจัดการ ต้องวางมาตรฐานด้านการกำกับดูแลที่มีประสิทธิภาพครอบคลุมทั้งกลุ่มไทยเบฟ, 100% ของคู่ค้ากลุ่มกลยุทธ์ต้องจัดทำและบังคับใช้จรรยาบรรณสำหรับคู่ค้าของตนเอง และผสานความร่วมมือเพื่อผลกระทบเชิงบวกด้านสิ่งแวดล้อม สังคมและธรรมาภิบาล
นายดิษทัต ปันยารชุน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก (โออาร์) กล่าวในหัวข้อ สร้างความยั่งยืนให้เป็นจริง ว่า สังคมในเวลานี้มีความเหลื่อมล้ำเป็นโจทย์องค์กรใหญ่ที่ต้องแก้ไขให้ได้ และพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปจะอยู่อย่างเดิมไม่ได้ ต้องปรับแผนธุรกิจสอดรับกับทิศทางโลกที่เปลี่ยนแปลงไปทั้งสิ่งแวดล้อมและชุมชน โดยรูปแบบของธุรกิจโออาร์คือให้โอกาส เช่น ธุรกิจแฟรนไชส์ ให้โอกาสดูแลเอสเอ็มอีดูแลชุมชน อย่างคาเฟ่อเมซอน โออาร์เป็นเจ้าของ 20% เท่านั้น หรือยึดหลัก 80:20
นอกจากนี้ยังต้องให้โอกาสคนตัวเล็ก และช่วยให้เอสเอ็มอี วิสาหกิจชุมชนอยู่ในอีโคซิสเต็ม ต้องการพันธมิตรพาร์ทเนอร์ชิพคือพลัง รวมทั้งต้องทำให้สังคมสะอาด โดยการทำธุรกิจถ้าไม่คำนึงถึงธรรมาภิบาลจะเดินไม่ได้ อย่าคิดว่าเรื่องสีเขียว หรือกรีนเป็นต้นทุน ต้องบริหารต้นทุน เพราะการใส่เงินลงทุนเป็นการให้โอกาสทำธุรกิจยั่งยืน
นายปิติ ตันฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทหารไทยธนชาต กล่าวหัวข้อ จุดเปลี่ยนศักยภาพใหม่เศรษฐกิจไทย ว่า เรื่องความยั่งยืนทำคนเดียวไม่ได้ และความยั่งยืนคู่กับการเปลี่ยนแปลง ถ้าอยากยั่งยืนต้องเปลี่ยนแปลง แต่ไม่ใช่ทุกการเปลี่ยนแปลงจะไปสู่ความยั่งยืน ยิ่งช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมาการเติบโตเศรษฐกิจ เพราะการบริโภคในประเทศ แต่ก็มาพร้อมหนี้ครัวเรือนสูงติดอันดับของโลก ถ้าเติบโตจากกู้เพื่อใช้จ่ายก็ไม่ยั่งยืนแน่นอน และปัญหาสังคมสูงวัยเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง มีโอกาสที่ทักษะไม่ตอบโจทย์โลกที่เปลี่ยนแปลงไป
ทั้งนี้ต้องเร่งให้เอสเอ็มอีปรับตัวไปสู่ธุรกิจรูปแบบใหม่ผ่านการจับมือกับธุรกิจขนาดใหญ่ แม้ธุรกิจขนาดใหญ่จะมี 14,623 ราย เกิดการจ้างงาน 5 ล้านคน รายได้ต่อปี 38 ล้านล้านบาท แต่ขณะที่เอสเอ็มอีมีอยู่ 3.19 ล้านราย การจ้างงาน 12.6 ล้านคน รายได้ต่อปี 10 ล้านล้านบาท จะเกิดอะไรขึ้นถ้าเอสเอ็มอีไม่ยั่งยืน และแข่งขันไม่ได้ คนมีรายได้ไม่พอรายจ่ายและเป็นปัญหาหนี้ รวมถึงในไทยการวิจัยพัฒนาน้อยมากมีเพียง 1% ของจีดีพีถือว่าต่ำมาก เปรียบได้ว่าเราไม่มีของใหม่มาขาย เราขายทักษะเดิม บริการแบบเดิม คนเราแก่ลง ถ้าไม่เปลี่ยนแล้วความยั่งยืนจะมาได้อย่างไร
“การเติบโตคือการให้สินเชื่อเพื่อบริโภค ถึงจุดที่ต้องตั้งคำถามว่าจะไปต่อแบบนี้ได้จริงหรือ ทำไมแบงก์ไม่ปล่อยเอสเอ็มอี จากงบแบงก์ไตรมาสสองเมื่อเศรษฐกิจเปราะบางจะไปโผล่ที่เอ็นพีแอลแบงก์ เอ็นพีแอลเอสเอ็มอี เอ็นพีแอลครัวเรือน โดยธนาคารยึดหลัก B ESG เริ่มจากตัว B ทำอย่างไรให้เริ่มธุรกิจอย่างไรให้ยั่งยืน ความยั่งยืนต้องเริ่มจากตัวธุรกิจ นำไปสู่ความยั่งยืนหรือไม่”
นายรักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (เอ็กซิมแบงก์) กล่าวหัวข้อสถาบันการเงินขับเคลื่อน ESG ว่า สมการธุรกิจยุคใหม่ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ คือ หน้าที่ธนาคารไม่ได้ปล่อยเงินกู้ หรือให้เงินฝากอีกต่อไป และธุรกิจสีเขียวเป็นทางรอดไม่ใช่ทางเลือกอีกต่อไป โดยเอ็กซิมแบงก์ได้ตั้งเป้าปี 73 ต้องเข้าไปเป็นเน็ตซีโร่ให้ได้ มุ่งสู่เป็นกรีน ดีเวลลอปเมนท์แบงก์
ปัจจุบันเอ็กซิมแบงก์มีกรีนบอนด์ 5,000 ล้านบาท เอสเอ็มอีกรีนบอนด์ 3,500 ล้านบาท จากพอร์ตเอสเอ็มอี 35,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นไปตามเป้าหมาย โดยหัวใจของการสร้างเอ็กซิมแบงก์ให้ยั่งยืน คือ แคร์คน คือแคร์ลูกค้า แคร์พนักงาน, แคร์โลก คือแคร์สิ่งแวดล้อม แคร์สังคม, แคร์ประสิทธิภาพ, แคร์ความสำเร็จ และมาสู่การเติบโตอย่างยั่งยืนคำพูดจาก สล็อตเว็บตรง
นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.บางจากคอร์ปอเรชั่น กล่าวหัวข้อ The Great Remake สู่โอกาสใหม่ ว่า บางจากฯ พยายามจะสร้าง ecosystem เพื่อมุ่งสู่ป้าหมาย “Net Zero” ของประเทศไทย ด้วยแผน BCP NET ครอบคลุม 4 แนวทาง ดังนี้ B: Breakthrough Performance เน้นกระบวนการผลิตที่มีประสิทธิภาพสูงด้วยเทคโนโลยีที่มีอยู่ในปัจจุบัน ปล่อยคาร์บอนต่ำและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม, C: Conserving Nature and Society สนับสนุนการสร้างสมดุลทางระบบนิเวศและเชื่อมโยงสู่สังคม คาร์บอนต่ำ, P: Proactive Business Growth and Transition เปลี่ยนผ่านธุรกิจสู่พลังงานสะอาด และ N: Net Zero Ecosystem สร้างระบบนิเวศเพื่อรองรับการไปสู่เป้าหมาย Net Zero เป็นต้น
ทั้งนี้ งานสัมมนา ESG : Game Changer ในครั้งนี้จัดขึ้นโดยหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ภายในงานมีนายปารเมศ เหตระกูล กรรมการบริหาร นางสิริวรรณ พันธุ์ปรีชากิจ กรรมการบริหาร นายอภิชัย รุ่งเรืองกุล บรรณาธิการผู้พิมพ์ผู้โฆษณา พร้อมผู้บริหารหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ร่วมงานด้วย